วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2560

มนุษยชาติขับเคลื่อนโลกได้อย่างไร Why humans run the world โดย Yuval Noah Harari





เมื่อราวหมื่นปีก่อน บรรพบุรุษของเรา เป็นสัตว์ที่ไม่มีความหมายเท่าไร

สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรจะรู้เกี่ยวกับ มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ก็คือ พวกเขาเป็นสัตว์ที่ไม่สำคัญ พวกเขาสามารถสร้างผลกระทบต่อโลกได้ไม่มากไปกว่าของแมงกะพรุน หิ่งห้อย หรือนกหัวขวาน

ในทางตรงข้าม ปัจจุบันนี้มนุษย์เราสามารถควบคุมโลกได้ หรือเกือบได้ทั้งหมด

ดังนั้น คำถามก็คือเราได้กลายจากสิ่งที่เป็นในอดีตคือสัตว์ที่ไม่สำคัญอะไร ไม่สามารถสร้างผลกระทบใดๆ ต่อโลกนี้ มาเป็นเหมือนกับในปัจจุบันที่สามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ได้มากมายได้อย่างไร

เราได้เปลี่ยนตัวเองจากลิงไม่มีหางที่ไม่มีความสำคัญอะไร สนใจแต่เรื่องของตัวเอง มีชีวิตอยู่ในพื้นที่เล็กๆ ของแอฟริกา มาเป็นผู้ครองโลกได้อย่างไร

ปกติแล้ว เราจะมองหาความแตกต่าง ระหว่างเรากับสัตว์อื่น ในระดับตัวบุคคล

มนุษย์เราพยายามจะเชื่อว่า มนุาย์เรามีความพิเศษบางอย่างที่ซ่อนอยู่ ในร่างกาย หรือสมองของเรา ทำให้เราเก่งกว่าสุนัข หมู แมว หรือลิงชิมแปนซี

แต่ในความจริงแล้ว ในระดับตัวบุคคลนั้น มนุษย์คล้ายกับลิงชิมแปนซีอย่างมาก และถ้ามนุษย์เรากับลิงชิมแปนซีถูกนำไปปล่อยให้อยู่ตามลำพังในเกาะกลางทะเล
โดยเราต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด คุณคิดว่าลิงหรือมนุษย์จะมีความสามารถเอาชีวิตรอดได้ดีกว่ากัน
ส่วนตัวแล้วเราคงเดิมพันข้างลิงชิมแปนซีอย่างแน่นอน เราคงไม่เลือกมนุษย์ แน่นอนนี่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ที่เราจะต้องคิดว่าลิงน่าจะมีความสามารถในการเอาตัวรอดได้ดีกว่ามนุษย์ หากถูกปล่อยเกาะ 
จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่า ความแตกต่างจริง ๆ ระหว่างมนุษย์และสัตว์ ไม่ได้อยู่ในระดับตัวบุคคล แต่อยู่ที่ในระดับกลุ่มบุคคลมากกว่า
มนุษย์ครองโลกได้เพราะว่าเป็นสัตว์ชนิดเดียว ที่สามารถร่วมมือกัน อย่างยืดหยุ่น และเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะมีสัตว์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น แมลงสังคม เช่น ผึ้ง มด ซึ่งเป็นสัตว์ที่สามารถร่วมมือกันเป็นจำนวนมากเช่นกัน แต่พวกมันไม่สามารถร่วมมือกันอย่างยืดหยุ่นได้ การร่วมมือกันของสัตว์เหล่านั้นมีความตายตัวมาก ผึ้งทั้งรังจะทำงานร่วมกันโดยมีบทบาทตายตัวมาก ผึ้งงานไม่สามารถเป็นนางพญาได้ และในทางกลับกัน ผึ้งนางพญา ก็ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นผึ้งงานได้ 
ด้วยเหตุนี้ หากผึ้งทั้งรังต้องพบกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ รวมทั้งอันตรายรูปแบบใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเดิม ผึ้งก็จะไม่สามารถสร้างหรือพัฒนาระบบสังคม รูปแบบใหม่ในชั่วข้ามคืนเพื่อรับมือกับสถานการณ์แปลกใหม่เหล่านั้น เช่น ผึ้งงานไม่สามารถฆ่าราชินีผึ้งเพื่อก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนผึ้ง หรือระบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ที่ปกครองโดยผึ้งงานได้ 
นอกจากนี้ สัตว์สังคม ประเภทอื่นๆ อาทิเช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นสัตว์สังคม ไม่ว่าจะเป็น หมาป่า ช้าง โลมา ชิมแปนซี ซึ่งเป็นสัตว์สังคมที่สามารถทำสิ่งต่างๆ ร่วมกัน หรือร่วมมือกันได้ด้วยความยืดหยุ่นกว่า แต่ก็ทำได้เพียงเป็นกลุ่มขนาดเล็กเท่านั้น เนื่องจากความร่วมมือกันในกลุ่มชิมแปนซี ขึ้นอยู่กับความรู้จักกันเป็นอย่างดีในสมาชิกของกลุ่มนั้นๆ ชิมแปนซีจะร่วมมือกันได้ก็ต่อเมื่อต้องรู้จักกันเป็นอย่างดีเป็นการส่วนตัวก่อนเท่านั้น ต้องทราบก่อนว่า มีนิสัยอย่างไร เป็นตัวป่วนหรือไม่ เชื่อใจได้หรือไม่ จึงจะเกิดความไว้วางใจกัน หากไม่รู้จักกันมาก่อนไม่มีความไว้วางใจกัน ก็จะไม่สามารถร่วมมือกันได้ 
สัตว์ประเภทเดียวที่สามารถร่วมมือกันแบบยืดหยุ่น และร่วมมือกันทำสิ่งใดๆ ด้วยสมาชิกจำนวนมาก ก็คือมนุษย์ หรือโฮโมเซเปียน แน่นอน ชิมแปนซี อาจเก่งกว่ามนุษย์ หากเปรียบเทียบกันแบบตัวต่อตัว แต่หากต้องทำสิ่งใดๆ แบบร่วมมือกันอย่างยืดหยุ่นแล้วมนุษย์จะชนะชิมแปนซีได้อย่างสบายๆ เพราะชิมแปนซี หนึ่งพันตัวจะไม่สามารถร่วมมือกันได้เลย ยิ่งถ้าให้ชิมแปนซี หนึ่งแสนตัวอยู่ร่วมกัน ในสถานที่ใดๆ ไม่ว่าจะเป็น ถนนอ็อกซ์ฟอร์ด สนามกีฬาเวมบรีย์ จตุรัสเทียนอันเหมิน หรือนครรัฐวาติกัน เราก็จะพบกับความอลหม่าน ยุ่งเหยิง วุ่นวาย ไม่สามารถควบคุมได้ 
ในทางตรงข้าม ถ้าเป็นการรวมตัวกันของมนุษย์ในสถานที่เหล่านั้น แม้จะมีจำนวนหลายหมื่นคน ก็จะไม่เกิดความโกลาหลอย่างนั้น ด้วยมนุษย์เราจะมีความร่วมมือกันอย่างสลับซับซ้อน และมีเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพิรามิด การบินไปเหยียบดวงจันทร์ ล้วนไม่ใช่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากความสามารถของบุคคลเพียงคนเดียว แต่เป็นความสำเร็จที่เกิดจากความสามารถในการร่วมมือในการทำสิ่งต่างๆ อย่างยืดหยุ่นด้วยสมาชิกจำนวนมาก 
ลองคิดดูว่าแม้แต่การบรรยายของวิทยากรในขณะนี้ ซึ่งกำลังพูดอยู่ต่อหน้าผู้ฟังจำนวนมาก ซึ่งผมก็ไม่เคยรู้จักพวกคุณมาก่อน นอกจากนี้ วิทยากรก็ไม่รู้จักทีมงานที่ทำหน้าที่ดูแลจัดงานการประชุมครั้งนี้เช่นเดียวกัน วิทยากรไม่รู้จักคนขับเครื่องบินที่พาวิทยากรมาบรรยาย วิทยากรไม่รู้จักผู้ประดิษฐ์ไมโครโฟนนี้ รวมทั้งคนสร้างกล้องที่กำลังบันทึกภาพตัวนี้ วิทยากรไม่รู้จักคนเขียนหนังสือ และบทความต่างๆ ที่วิทยากรได้อ่านรวบรวมมา เพื่อนำเสนอในการบรรยายครั้งนี้ รวมทั้งไม่รู้จักคนที่กำลังดู กำลังอ่าน เรื่องราวที่บรรยายในครั้งนี้ ผ่านทางอินเตอร์เน็ต ที่อาจอาศัยอยู่ที่ใดสักแห่งบนโลกนี้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าเราจะไม่รู้จักกัน เราก็สามารถทำงานร่วมกัน สามารถแลกเปลี่ยนแนวคิดระดับโลกนี้ร่วมกัน ซึ่งชิมแปนซีไม่สามารถทำได้ แม้ว่าชิมแปนซีจะสามารถสื่อสารระหว่างกัน แต่เราไม่เคยเห็นว่าชิมแปนซีกลุ่มหนึ่งจะเดินทางไปหาชิมแปนซีอีกกลุ่มที่อยู่ห่างไกลออกไป เพื่อบรรยายเกี่ยวกับเรื่อง กล้วย ช้าง ม้า หรือเรื่องต่างๆ ที่ทำให้ชิมแปนซีอีกกลุ่มสนใจ 
จริงอยู่ว่า ความร่วมมือไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป สิ่งเลวร้ายหลายอย่างที่มนุษย์ก่อให้เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ด้วยความสามารถในการร่วมมือกันทำโดยสมาชิกจำนวนมาก ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วนับไม่ถ้วน อาทิเช่น คุกเป็นระบบความร่วมมือ โรงฆ่าสัตว์เป็นระบบความร่วมมือ ค่ายกักกันก็เป็นระบบความร่วมมือ
ลิงชิมแปนซีไม่มีโรงฆ่าสัตว์ ไม่มีคุก ไม่มีค่ายกักกัน 
หากวิทยากรสามารถโน้มน้าวผู้ฟังได้สำเร็จ ว่า เราสามารถครองโลกได้ ด้วยความร่วมมือกันของพวกเราทุกคน แบบยืดหยุ่น ก็จะเกิดคำถามขึ้นในใจของผู้ฟังต่อไปว่า พวกเราจะทำได้อย่างไร สิ่งใดที่ทำให้เราเป็นสัตว์ชนิดเดียว ที่สามารถร่วมมือกันทำสิ่งเหล่านี้ได้ 
คำตอบก็คือ จินตนาการของมนุษยชาติ 
มนุษย์สามารถร่วมมือแบบยืดหยุ่นเพื่อทำสิ่งใดๆ กับคนแปลกหน้าจำนวนมากที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน เนื่องจากมนุษย์เราเป็นเพียงสัตว์ชนิดเดียวในโลก ที่สามารถสร้าง และเชื่อ เรื่องสมมุติ ร่วมกัน และตราบที่มนุษย์ทุกคนเชื่อในเรื่องสมมติเดียวกัน ทุกคนก็จะเชื่อฟังและทำตามกฎระเบียบ ขนบธรรมเนียมเดียวกัน รวมทั้งมีค่านิยมแบบเดียวกัน 
สัตว์ต่างๆ ในโลกล้วนใช้การสื่อสารเพื่ออธิบายเรื่องจริง เช่น ชิมแปนซี อาจสื่อสารกับเพื่อนชิมแปนซีในกลุ่มว่า "สิงโตมา รีบหนีกันเถอะ" หรือ "นั่นต้นกล้วยอยู่ทางโน้น เราไปเอากล้วยกัน" แต่สำหรับมนุษย์แล้ว นอกจากเราจะใช้ภาษาในการอธิบายความจริงให้กับเพื่อนสมาชิกแล้ว เรายังใช้เพื่ออธิบายความจริง แต่เราสามารถใช้ภาษาในการสื่อสาร เพื่อสร้างความจริงขึ้นมาใหม่ เช่น มนุษย์ คนใดคนหนึ่งอาจกล่าวว่า "มีเทพเจ้าอยู่บนฟากฟ้า" หากคุณไม่ทำตามที่ผมบอก เมื่อคุณตายไปคุณจะถูกลงโทษส่งไปนรก โดยเทพเจ้า 
หากทุกคนเชื่อเรื่องที่ผมสร้างขึ้น ทุกคนก็จะทำตาม ขนบธรรมเนียม กฎระเบียบ และมีค่านิยมเดียวกัน นั่นคือทุกคนสามารถร่วมมือกันทำตามความเชื่อเดียวกัน 

เราไม่สามารถโน้มน้าว ให้ชิมแปนซี ยื่นกล้วยในมือให้เราได้ แม้ว่าเราจะสัญญากับชิมแปนซีว่า "หลังจากมันตาย ชิมแปนซีตัวนั้นจะได้ไปสวรรค์ของชิมแปนซีนะ" 
และชิมแปนซีตัวนั้น จะได้กล้วยมากมายในสวรรค์อันผลบุญที่ชิมแปนซีตัวนั้นได้ให้กล้วยกับเรา " 
ไม่มีลิงตัวไหนที่จะเชื่อเรื่องเช่นนี้ มีเพียงมนุษย์เท่านัั้นที่เชื่อเรื่องแบบนี้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้มนุษย์เราครองโลกได้ ในขณะที่ชิมแปนซีถูกขังอยู่ในสวนสัตว์ และในห้องทดลอง
ตอนนี้ เราอาจยอมรับว่า มันเป็นเรื่องจริง ในทางศาสนา มนุษย์ร่วมมือกัน โดยเชื่อเรื่องสมมติเดียวกัน มนุษย์เป็นล้านๆ มาร่วมกัน สร้างวิหารหรือมัสยิต ทำสงครามครูเสด สงครามญิฮาด เพราะพวกเขาเหล่านั้นเชื่อในเรื่องเดียวกัน เชื่อในเรื่อง พระเจ้า สวรรค์ และนรก
แต่สิ่งที่วิทยากรต้องการเน้นก็คือ ด้วยกลไกการสร้างความเชื่อและทำให้ทุกคนเชื่อแบบเดียวกันนี้ จึงเป็นฐานรากของความร่วมมือกันในมนุษย์ ในระดับที่ยิ่งใหญ่ในทุกรูปแบบ ไม่ใช่เพียงเรื่องศาสนาเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นในทางกฎหมาย ระบบกฎหมายส่วนใหญ่ในโลกปัจจุบัน มีพื้นฐานจากความเชื่อในเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่สิทธิมนุษยชนคืออะไร หากเราเปรียบสิทธิมนุษยชน ก็เหมือนกับเทพเจ้าและสวรรค์ เป็นเพียงเรื่องที่มนุษย์เราประดิษฐ์ขึ้น ไม่ใช่ความจริงที่เป็นปรวิสัย (ความเป็นจริงตามธรรมชาติ) ไม่ใช่เป็นผลทางชีวภาพของสัตว์ ที่เรียกว่าโฮโมเซเปียน หากเราเอามนุษย์มาผ่าออกดู เราจะพบหัวใจ ไต เซลล์ประสาท ฮอร์โมน ดีเอ็นเอ แต่จะไม่พบสิทธิมนุษยชน ที่เดียวที่เราจะพบสิทธิมนุษยชนได้ก็มีแต่ในเรื่องสมมุติ คือมนุษย๋สมมติขึ้นเอง ประดิษฐ์ขึ้นเองแล้วเผยแพร่ ในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา 
ซึ่งมันอาจจะเป็นเรื่องดี ถึงดีมากก็ได้ แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่มนุษย์สมมุติขึ้น
ซึ่งรวมถึงการเมืองการปกครองด้วย ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในระบบการปกครองปัจจุบัน ก็คือรัฐและประเทศ แล้วรัฐและประเทศชาติคืออะไร รัฐและประเทศไม่ใช่ความจริงแบบปรวิสัย (ความจริงตามธรรมชาติ) ภูเขา แม่น้ำต่างหากที่เป็นความจริงแบบปรวิสัย เราเห็นเราสามารถสัมผัสได้ เราได้กลิ่นมันได้ แต่ประเทศหรือรัฐ ไม่ว่าจะเป็น อิสราเอล อิหร่าน ฝรั่งเศส เยอรมนี เป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ สรรค์สร้างขึ้น แล้วเราก็ยึดติดกับมัน อย่างมากด้วย ซึ่งรวมถึงความจริงในเชิงเศรษฐกิจด้วย 
ประการสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งในเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน ก็คือ บริษัท และบรรษัท เราหลายคนทำงานในบริษัท ไม่ว่าจะเป็นกูเกิ้ล โตโยต้า แมคโดนัลด์ 
แล้วบริษัทคืออะไร มันเป็นเรื่องที่พวกนักกฎหมาย สมมติขึ้น สร้างขึ้น เป็นสิ่งที่ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้น และนำมาให้พวกเราใช้ ให้พวกเรายึดถือ โดยพวกเหล่าพ่อมดทางเศรษฐกิจ หรือพอมดทางกฎหมาย 
สิ่งที่บริษัทพยายามทำ ตลอดเวลา คือความพยายามในการทำเงิน สะสมเงิน สะสมความมั่งคั้งทางการเงิน 

แล้วเงิน คืออะไร
เช่นเดียวกัน เงินไม่ใช่ความจริงแบบปรวิสัย (ความจริงตามธรรมชาติ) เพราะมันไม่มีค่าแบบปรวิสัย (ไม่มีค่าตามธรรมชาติ) เรานำกระดาษสีเขียวแผ่นหนึ่งแล้วเรียกมันว่า แบงค์ดอลลาร์ มันไม่มีค่าอะไรเลย มันเป็นเพียงแค่กระดาษ สีเขียวมีลายน้ำ เราไม่สามารถรับประทานมันได้ ดื่มมันก็ไม่ได้ สวมใส่มันก็ไม่ได้ แต่ว่ามียอดนักเล่านิทาน คือพวกนายธนาคาร รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง นายกรัฐมนตรี พวกเขาเล่านิทานที่น่าเชื่อถือมากให้เราฟัง "ดูนี่ คุณเห็นกระดาษแผ่นสีเขียวนี้ไหม มันมีค่าจริงๆ เท่ากับกล้วย 1 ใบ" หากเราทุกคนเชื่อ มันได้ผลจริงๆ เราสามารถใช้แผ่นกระดาษที่ไร้ค่าแผ่นนี้ ไปยังซูเปอร์มาร์เก็ต ให้กับคนที่ไม่รู้จัก เราไม่เคยพบเจอกันมาก่อน แล้วแลกกล้วยที่เราสามารถกินได้จริง จากการแลกเปลี่ยน นี่เป็นอะไรที่น่ามหัศจรรย์ ซึ่งเราไม่สามารถทำเช่นนี้ได้กับชิมแปนซี แน่นอนว่าชิมแปนซีก็ซื้อขายแลกเปลี่ยนเหมือนกัน "ตกลง คุณให้มะพร้าวกับลิง แล้วลิงจะให้กล้วยกับคุณ"
นั่นอาจได้ผล แต่คุณให้กระดาษแผ่นนี้ที่ไม่มีค่ากับลิง แล้วคุณหวังว่าลิงจะให้กล้วยกับคุณ ไม่มีทางอย่างแน่นอน ลิงไม่ใช่มนุษย์ ลิงไม่เชื่อเรื่องเงินตรา
จริงๆ แล้ว เงินตราเป็นนิทาน เรื่องเล่าที่มนุษย์สร้างขึ้น แล้วประสบความสำเร็จสูงสุด ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เป็นเรื่องเดียวที่มนุษย์ทุกคนเชื่อเหมือนกันหมด 
เรื่องพระเจ้า ไม่ใช่เรื่องที่มนุษย์ทุกคนเชื่อ และสิทธิมนุษยชนก็ไม่ใช่เรื่องที่มนุษย์ทุกคนเชื่อเช่นเดียวกัน รวมถึงมนุษย์ทุกคนก็ไม่ได้เป็นคนรักชาติ  แต่ทุกคนเชื่อเรื่องเงิน เชื่อในแบงค์ดอลล่าร์ แม้แต่ บิน ลาดิน (หัวหน้าผู้ก่อการร้าย) ที่เกลียดชัง ระบบการเมืองและศาสนาของอเมริกัน และวัฒนธรรมอเมริกัน แต่บินลาดิน ไม่มีปัญหากับดอลล่าอเมริกัน และจริงๆ แล้วเขาค่อนข้างจะชอบเงินดอลล่ามากด้วย

สรุปก็คือ พวกเรามนุษย์ควบคุมโลกได้ เพราะอยู่กับความจริงสองอย่าง
ในขณะที่ สัตว์อื่นทั้งหมดอยู่กับความจริงที่เป็นปรวิสัย (ความจริงตามธรรมชาติ)
ความจริงของเหล่าสรรพสัตว์ประกอบด้วยสิ่งที่มีอยู่จริง ๆ เช่น แม่น้ำ ต้นไม้สิงโต และช้าง
ในขณะที่มนุษย์เรา ก็อยู่กับความจริงที่เป็นปรวิสัย (ความจริงตามธรรมชาติ) เช่นกัน  เราอยู่กับ แม่น้ำ ต้นไม้สิงโต และช้าง แต่ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา มนุษยชาติได้สร้างสิ่งเติมต่อ บนความจริงที่เป็นปรวิสัย เหล่านี้ เป็นความจริงชั้นที่สอง เป็นความจริงแบบสมมุติ เป็นความจริงแบบที่มนุษยชาติสร้างขึ้น เช่น ประเทศชาติ พระเจ้า เงิน และบริษัท และสิ่งที่น่าอัศจรรย์ก็คือเมื่อเวลาผ่านไป ความจริงที่สมมุติเหล่านั้น กลับมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งทุกวันนี้ สิ่งที่มีทรงพลังมากที่สุดในโลก ก็คือความจริงสมมุติเหล่านี้ ในปัจจุบัน การอยู่รอดของแม่น้ำ ต้นไม้ สิงโต ช้าง และเหล่าสรรพสัตว์ รวมทั้งมนุษย์ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ และความต้องการ ของสิ่งที่สมมุติขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา บริษัทกูเกิล หรือธนาคารโลก สิ่งที่มีอยู่เพียงแต่ในจินตนาการของเรา
วิทยากรบอกว่า ความก้าวหน้าแบบอัศจรรย์ ที่พวกเรากำลังประสบในตอนนี้
ไม่เพียงแต่จะทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิด
"ชนชั้นต่างๆ ทางสังคม และความขัดแย้งระหว่างชนชั้น เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม"
ในการปฏิวัติอุตสาหกรรม เราเห็นการกำเนิดของชนชั้นใหม่ คือ ชนชั้นกรรมาชีพในเมือง (กรรมกรในเมือง) และประวัติศาสตร์การเมืองและสังคม ส่วนใหญ่ตลอดหลาย ปีที่ผ่านมา จะเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกลุ่มคนในชนชั้นนี้ รวมถึงปัญหาและโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น 
ขณะนี้ เราเห็นการกำเนิดขึ้นของชนชั้นขนาดใหญ่ ของกลุ่มคนไร้ประโยชน์ 
เมื่อคอมพิวเตอร์เก่งขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มคนในสาขาอาชีพต่างๆ ที่สามารถนำคอมพิวเตอร์มาทำงานแทนที่ได้ กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะไร้ประโยชน์ มันเป็นความจริงที่ว่า วันหนึ่งคอมพิวเตอร์จะเก่งกว่ามนุษย์ สามารถทำงานทดแทนมนุษย์ได้ และทำให้มีมนุษย์มากเกินความจำเป็น
และคำถามทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สำคัญในศตวรรษนี้ ก็คือ
"เราจะต้องการมนุษย์ไปทำไม" หรืออย่างน้อยที่สุด "เราจะใช้มนุษย์มากขนาดนี้ไปทำอะไร"

อย่างไรก็ตาม คำตอบในขณะนี้ก็คือ เราพยายามจะทำให้มนุษย์ทุกคนอยู่อย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยยารักษาโรค และเกมส์คอมพิวเตอร์ 
แต่ฟังดูแล้วมันออกจะเป็นอนาคตที่ไม่พึงประสงค์ 

เรื่องที่อภิปรายกันในขณะนี้เกี่ยวกับหลักฐานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ พวกเราอยู่แค่ที่จุดเริ่มต้น ของกระบวนการนี้เท่านั้นใช่หรือไม่
แน่นอนมันไม่ใช่คำพยากรณ์ แต่มันคือความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น
ความเป็นไปได้อย่างหนึ่งก็คือการกำเนิด ชนชั้นหรือกลุ่มคนขนาดใหญ่ที่ไม่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และความเป็นไปได้อีกอย่างก็คือการแบ่งแยกมนุษย์
ออกเป็นชนชั้นวรรณะต่างๆ ทางชีวภาพ โดยคนรวยจะเปลี่ยนไปเป็นพระเจ้าดีๆ นี่เอง ในขณะที่คนจนจะถูกลดขั้น จนกลายเป็นชนชั้นที่ไม่มีประโยชน์ 

โดย บรูโน เกียสซานี ยูวาล 
เรียบเรียงโดย ณัฏฐ์ โอธนาทรัพย์